วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

“เทคนิคการถอดบทเรียนที่มีประสิทธิภาพ”

ในปัจจุบัน  นักวิชาการพัฒนาชุมชนมีงานที่เกี่ยวข้องกับการถอดบทเรียนผู้ที่ประสบผลสำเร็จในงานพัฒนาชุมชนซึ่งรวมทั้งการจัดเก็บองค์ความรู้ต่างๆจากปราชญ์ชาวบ้าน  ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ในการถอดบทเรียนผู้ที่ได้รางวัลชนะเลิศการคัดเลือกผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนดีเด่นระดับเขต  ประจำปี 2551  “ตามโครงการเชิดชูเกียรติผู้นำ  เครือข่ายพัฒนาชุมชนดีเด่น  ประจำปี  2551”  ประกอบกับได้ไปอบรมโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนางานด้านการจัดการความรู้ในงานพัฒนาชุมชน จึงขอแลกเปลี่ยนประสบการณ์  ในเรื่องการถอดบทเรียนที่มีประสิทธิภาพค่ะ
ขุมความรู้                                                                       
1.  ผู้ถอดบทเรียนสร้างความคุ้นเคยกับผู้เล่าเรื่อง  โดยถามสาระทุกข์สุกดิบ  และบอกวัตถุประสงค์ในการมาครั้งนี้แบบไม่เป็นทางการ
2.  ไม่ควรจัดสถานที่แบบห้องฝึกอบรมหรือห้องประชุม  แต่ควรเป็นลักษณะการนั่งชวนคุย
3.  ให้ผู้เล่าเรื่อง  เล่าเรื่องโดยอิสระ  โดยผู้ถอดบทเรียนถามว่า  กว่าที่จะสำเร็จมาถึงวันนี้ท่านทำอย่างไร
4.  ควรสร้างบรรยากาศให้ปลอดภัย  ผ่อนคลาย  ให้ผู้เล่าเรื่องรู้สึกไม่อึดอัด  โดยผู้ถอดบทเรียนควรนั่งในที่เหมาะสม  เช่นถ้าเป็นผู้ใหญ่กว่าก็ควรให้เกียรติไม่นั่งสูงกว่าผู้เล่าเรื่อง  และควรใช้ภาษาที่คุ้นเคยไม่ใช่ภาษาวิชาการ  ถ้าเป็นภาษาพื้นเมืองได้ก็ยิ่งจะได้ผล
 5.  เมื่อผู้เล่าเรื่อง  เล่าโดยอิสระจนจบโดยผู้ถอดบทเรียนไม่ขัดจังหวะ  แต่จะต้องมีประเด็นไว้ในใจหลัก  4  เรื่อง  คือ  ทำมาได้อย่างไรจึงสำเร็จ  มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง  และแก้ขปัญหาได้อย่างไร  มีข้อเสนอแนะอะไรบ้างถ้าคนอื่นจะเดินตามรอยผู้เล่า
6.  ประเด็นที่ผู้ถอดบทเรียนกำหนดไว้ในใจ  ไม่ควรเรียงตามขั้นตอน  ในกรณีที่ผู้เล่าข้ามเรื่องที่เราอยากรู้ก็ปล่อยในเล่าไปก่อนจนจบ  แล้วค่อยถามในประเด็นที่ได้ข้อมูลไม่ครบ
7.  ผู้ถอดบทเรียนนำมาเขียนรวบรวมเรียบเรียงให้น่าอ่าน  โดยขออนุญาติเจ้าของเรื่องว่าจะเผยแพร่เรื่องราวของท่าน
แก่นความรู้                                                        
1.       สร้างบรรยากาศเป็นกันเอง
2.       กำหนดกรอบประเด็นไว้ในใจ
3.       เขียนเรียงร้อยให้ภาษามีชีวิต  น่าอ่าน
                                                                         
        เจ้าของความรู้  นางศิรินุช   สูงสุด นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี

เรื่องเล่า (เหล้า) เร้าพลัง “คำถามกระชากใจ มีใครคิดบ้าง


โดย  ศิรินุช   สูงสุด
นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
.....................................................
วันนี้  คือวันที่  29  กรกฎาคม  2553  เป็นช่วงเทศกาลเข้าพรรษา  หลังจากที่ฉันได้เขียนโครงการ  ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี  ลด  ละ  เลิก  อบายมุข  ในเทศกาลเข้าพรรษา  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรในศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี  มีจิตสำนึก  มีความตั้งใจ  ในการที่จะลด  ละ  เลิก  อบายมุข  ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว   ฉันได้กำหนดแบบฟอร์มในการบันทึกความดี  โดยให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้คิดทบทวนถึงความดีที่ทำมาแล้วและมีความภูมิใจ (แลหลัง)  และความตั้งใจที่จะทำความดีในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา  (เหลียวหน้า)   ตัวฉันเองก็คิดทบทวนเหลียวหน้า  แลหลัง  เช่นกัน

                   ไม่น่าเชื่อเลยว่าตัวฉันเองก็คิดไม่ออกว่าเคยทำความดีอะไรมาบ้าง  และจะทำอะไรต่อไป  คือฉันคิดไม่ออกในทันทีทันใด  จนต้องเปิดหาข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อมาประกอบความคิดและก็ได้พบสิ่งมหัศจรรย์  เป็น  POWER  PONIT   ของรุ่นพี่ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนจังหวัดลำปาง  ส่งมาให้  ฉันบันทึกเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์นานแล้ว  และก็ไม่ได้อ่านจนวันนี้จึงเปิดอ่าน  ชื่อเรื่องว่า  ไม่ด่วน  แต่สำคัญ  เพราะชื่อเรื่องนี่แหละทำให้ฉันยังไม่อ่านในทันที  รอวันไหนมีเวลาค่อยตั้งใจอ่าน  แล้วฉันก็พบว่า  ฉันคิดผิดไปถนัดเมื่อได้อ่านเนื้อใน 

คำถามคำแรกคือ  อีกสามวันโลกจะแตก  คุณจะทำอะไรกับเวลาที่เหลืออยู่
เป็นคำถามที่ทำให้เราต้องคิดอย่างหนัก  การกำหนดช่วงเวลาที่เหลืออยู่  เรามีเวลาแค่สามวันเท่านั้นเราจะเลือกทำอะไรบ้าง  ซึ่งเรามีอะไรต้องทำอีกมากมาย  ฉันคิดไม่ออกเช่นเคย   ว่าจะทำอะไรในอีกสามวันก่อนโลกแตก  จึงคลิ๊กดูเนื้อหาใน  POWER  PONIT  เพื่อจะดูว่าเขาทำอะไรกันบ้าง  ตามมาดูด้วยกันนะคะ
                   งานด่วนและสำคัญ
                   งานด่วนและไม่สำคัญ
                   งานไม่ด่วนและไม่สำคัญ
งานไม่ด่วนและสำคัญ
คุณจะเลือกแบบไหน
                                                งานด่วนและสำคัญ  คือ 
                                                งานเฉพาะหน้า
                                                งานที่มีเส้นตาย
                                                คอมพิวเตอร์เสียและต้องซ่อมด่วน
                                                งานที่ต้องหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว

          งานด่วนและไม่สำคัญ
          รีบเลิกงานไปดูบอล
          ทานอาหารกับเพื่อน
          เลี้ยงรุ่น  สังสรรค์ศิษย์เก่า
          ซื้อสินค้าให้ทันโปรโมชั่น
                                                งานไม่ด่วนและไม่สำคัญ
                                                โทรศัพท์คุยเล่นกับเพื่อน
                                                ดูโทรทัศน์คลายเครียด
                                                MSN
                                                ตอบอีเมล์เพื่อน
          งานไม่ด่วนแต่สำคัญ
          การออกกำลังกาย
          อ่านหนังสือเพิ่มพูนความรู้
          ให้เวลากับครอบครัว
          ฝึกสมาธิ   ภาวนา
                                                ไม่ว่าคุณจะเลือกแบบไหน
                                                หรือตัดสินใจไม่ได้
                                                เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่าง
ที่ต้องทำพร้อมกันไป
แต่เมื่อเวลาใกล้ถึงวาระสุดท้าย
เรามักจะนึกถึง
งานไม่ด่วนแต่สำคัญ
เพราะคือ
งานที่ป้องกันปัญหาของชีวิต
                                                ไม่รู้ว่า  วาระสุดท้ายของทุกคน
จะมาถึงเมื่อไร    
ณ  ปัจจุบัน  ขณะนี้
ทำงานไม่ด่วน  แต่สำคัญหรือยัง
ขอความอิ่มใจในธรรมมีต่อทุกคน
(จากหนังสือต้องเปลี่ยนวิธีคิด พระไพศาล  วิสาโล  และรินใจ
            เมื่ออ่านจบ  ฉันก็ได้คำตอบในทันที  ทำในสิ่งที่อยากทำและไม่เดือดร้อนคนอื่น 
ฉันจะบอกทุกคนที่ฉันรักว่าฉันรักเขามากแค่ไหน  ดูแลโดยไม่ต้องรอจนถึงวันพรุ่งเพราะอาจจะสายเกินไป  แล้วคุณละคะได้คำตอบกับชีวิตแล้วหรือยัง